ระบบสำรองไฟสำหรับโรงพยาบาล มีการทำงานอย่างไร ตอนที่ 1

Share this post

ระบบสำรองไฟถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากที่โรงพยาบาลทุกแห่งจะขาดไม่ได้ บางครั้งอาจเกิดปัญหาขึ้น ทั้งปัญหาจากไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ทำให้จำเป็นต้องใช้เครื่องสำรองไฟฟ้า เพื่อป้องกันความเสียหายแก่อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือแพทย์ ไม่ไปขัดขวางการทำงานของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย มาดูกันว่าในโรงพยาบาลระบบสำรองไฟมีการทำงานอย่างไร

คุณสามารถไปอ่านบทความตอนต่อไปได้ที่ ระบบสำรองไฟสำหรับโรงพยาบาล มีการทำงานอย่างไร ตอนที่ 2

ระบบสำรองไฟสำหรับโรงพยาบาล

ระบบสำรองไฟถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่ทางโรงพยาบาลจะขาดไม่ได้ เนื่องจากระบบไฟฟ้าในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพมากนัก ทั้งปัญหาจากไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ทำให้จำเป็นต้องใช้เครื่องสำรองไฟฟ้า เพื่อป้องกันความเสียหายแก่อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือแพทย์ จากปัญหาทางไฟฟ้าที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉินหรือห้อง ICU ต่างๆ ยังจำเป็นที่จะต้องมีไฟใช้ตลอดเวลา ดังนั้นโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลจึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบสำรองไฟไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น

ถ้าพูดถึงระบบสำรองไฟในโรงพยาบาลแล้ว จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ เครื่องสำรองไฟ หรือที่เราคุ้นหูในชื่อ UPS และอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า Gen ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก UPS และ Gen กันก่อนดีกว่า

UPS (Uninterruptible Power Supply)

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อจ่ายไฟฟ้าสำรองจากแบตเตอรี่ให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ซึ่งมักจะใช้สำรองไฟ เพื่อรอให้ Gen ทำงานจนสามารถจ่ายไฟให้กับระบบได้ก่อน โดยที่ UPS จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ

Off Line UPS

มีคุณสมบัติสำรองกระแสไฟฟ้า (ป้องกันไฟฟ้าดับ)ได้เพียงอย่างเดียว จะมีราคาถูกมากครับ

Line Interactive UPS with Stabilizer

มีคุณสมบัติสำรองกระแสไฟฟ้า (ป้องกันไฟฟ้าดับ) และควบคุมแรงดันกระแสไฟฟ้า ในกรณีที่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าตก พัฒนามาจากแบบแรก นิยมใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน ราคาปานกลาง

On Line UPS

มีคุณสมบัติสำรองกระแสไฟฟ้า (ป้องกันไฟฟ้าดับ) ควบคุมแรงดันกระแสไฟฟ้าในกรณีที่เกิด ปัญหาไฟฟ้าตก – ไฟฟ้าเกิน ยังถือว่าเป็น UPS ที่มีคุณภาพสูงกว่าชนิดอื่น มีการจ่ายกระแสไฟตลอดเวลา มีความเชื่อถือได้สูง ป้องกันสัญญาณรบกวนต่างๆ มีการออกแบบป้องกันการโหลดอย่างสมบูรณ์ มีราคาสูงกว่าแบบอื่นๆ

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)

เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงพลังงานกลมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กตามหลักการของ ไมเคิล ฟาราเดย์ คือ การเคลื่อนที่ของขดลวดตัวนำผ่านสนามแม่เหล็ก หรือการเคลื่อนที่แม่เหล็กผ่านขดลวดตัวนำ จะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำขึ้นในขดลวดตัวนำนั้น

เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามี 2 ชนิด คือชนิดกระแสตรงเรียกว่า ไดนาโม (Dynamo) และชนิดกระแสสลับเรียกว่า อัลเตอร์เนเตอร์ (Alternator) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมนั้น โดยมากจะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ซึ่งมีทั้งแบบ 1 เฟส และแบบ 3 เฟส โดยเฉพาะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ตามโรงพยาบาลจะเป็นเครื่องกำเนิดแบบ 3 เฟสทั้งหมด เนื่องจากสามารถผลิตและจ่ายกำลังไฟฟ้าได้เป็นสามเท่าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ 1 เฟส

นอกจากนี้ในระบบสำรองไฟยังต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับโอนย้าย Load ในกรณีที่ไฟจากการไฟฟ้าดับหรือมีปัญหา ซึ่งอุปกรณ์นั้น เรียกว่า “Automatic Transfer Switch” หรือ ATS

Automatic Transfer Switch (ATS)

อุปกรณ์ที่ใช้เลือกทางเดินไฟหรือแหล่งจ่ายไฟ ระหว่างแหล่งจ่าย 2 แหล่ง โดยส่วนใหญ่มักจะใช้เลือกระหว่างเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับหม้อแปลง หรือเลือกระหว่างหม้อแปลงกับหม้อแปลง โดยที่ในโรงพยาบาลมักจะใช้เลือกระหว่างหม้อแปลงไฟฟ้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ATS Controller และ Gen set Controller เป็นอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่จำเป็นสำหรับระบบสำรองไฟ โดย ATS Controller ใช้ควบคุมการทำงานของ ATS โดยจะทำหน้าที่สั่งให้ ATS transfer ไปรับไฟจากฝั่ง Gen หรือฝั่งหม้อแปลงจากการไฟฟ้า ซึ่ง ATS Controller จะทำงานโดยเช็คแรงดันและความถี่ของแหล่งจ่ายไฟทั้ง 2 แหล่ง ว่าเหมาะสมพร้อมที่จะจ่ายให้กับ Load ได้หรือไม่ หรือเราอาจจะใช้ชุด Control Gen-set แทน ATS Controller ก็ได้

แต่เนื่องจาก Control Gen-set มีให้เลือกหลายรุ่น ทั้งที่เป็นรุ่น Engine Protection Controllers, Stand alone gen-set controllers หรือ Auto mains failure (AMF) GEN-SET Controllers ซึ่ง Controller ที่เป็นแบบ Auto mains failure (AMF) นี่เองที่จะสามารถนำมาใช้งานแทน ATS Controller ได้ เพราะนอกจาก AMF จะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของ Gen แล้ว ตัว AMF ยังสามารถตรวจเช็คไฟทางฝั่งหม้อแปลงได้อีกด้วย

โดย AMF จะสั่งให้เครื่องยนต์สตาร์ทโดยอัตโนมัติ เมื่อไฟจากการไฟฟ้าผิดปกติ และส่งสัญญาณให้ ATS สับไปรับไฟจากฝั่ง Gen เพื่อจ่าย Load และเมื่อไฟจากการไฟฟ้ากลับมาปกติก็จะสั่งให้ ATS สับไปรับไฟฝั่งหม้อแปลงตามเดิม และสั่งดับ Gen โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีระบบป้องกันความเสียหายจากความผิดปกติของเครื่องยนต์ โดยจะสั่งดับเครื่องยนต์อัตโนมัติ ดังนี้ ความดันน้ำมันหล่อลื่นต่ำกว่าปกติ อุณหภูมิน้ำในหม้อน้ำสูงกว่าปกติ และเครื่องยนต์มีความเร็วสูงเกินพิกัด

การสำรองไฟในโรงพยาบาลจะมีอุปกรณ์อยู่ 3 อย่างที่ใช้ในกรณีเกิดเหตุไฟไฟขัดข้องต่างๆ เพื่อให้ระบบการจ่ายไฟไม่หยุดทำงาน เมื่อเกิดไฟฟ้าขัดข้อง AMF จะมีการสั่งให้เครื่องยนต์ทำงาน และส่งสัญญาณให้ ATS สับไฟไปรับไฟมาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแทนการรับจากหม้อแปลง แต่หากไฟฟ้ากลับมาจ่ายได้ตามปกติแล้ว AMF ก็จะสั่งให้ ATS สับไปรับไฟมาจากหม้อแปลงเหมือนเดิม และสั่งหยุดการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าลง ส่วนการออกแบบระบบสำรองไฟในโรงพยาบาลเป็นอย่างไรนั้นคุณสามารถไปอ่านบทความตอนต่อไปได้ที่ ระบบสำรองไฟสำหรับโรงพยาบาล มีการทำงานอย่างไร ตอนที่ 2

ถ้าคุณมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้า สามารถแชทมาหาเราได้ทันทีจากช่องแชทด้านล่างขวามือ หรือส่งเมลล์มาที่ [email protected] หรือผ่าน Line ที่ @factomart และเบอร์โทร 021-050-567 ได้หลากหลายช่องทาง มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำตลอดเวลาทำการ

Facebook Comments