เบรกเกอร์และประเภทของเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

สวัสดีครับ เจอกันอีกครั้งกับแหล่งรวมข้อมูลอุปกรณ์อุตสาหกรรม บล็อก Factomart.com ครับผม จากที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการทำงานพื้นฐานของเซอร์กิตเบรกเกอร์ไปแล้วนั้น วันนี้เราจะพาทุกท่านมาเรียนรู้เกี่ยวกับประเภทต่างๆ ของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เบรกเกอร์จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ก็คือ MCB, RCD, MCCB และ ACB เบรกเกอร์แต่ละประเภทจะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลยครับผม

นอกจากนี้คุณสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับเบรกเกอร์ทั้งหมดจากแหล่งรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับเบรกเกอร์ที่เราได้จัดทำข้อมูลไว้อย่างครบถ้วน เพื่อคุณจะได้รู้จักกับเบรกเกอร์แต่ละประเภทมากยิ่งขึ้น

เบรกเกอร์ Circuit Breaker คือ ??

เซอร์กิตเบรกเกอร์หรือเบรกเกอร์ คือ สวิตช์ไฟฟ้าอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันวงจรไฟฟ้าจากความเสียหายที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าส่วนเกิน โดยทั่วไปเกิดจากโหลดเกินหรือไฟฟ้าลัดวงจร การทำงานของมันคือตัดกระแสไฟฟ้าหลังจากตรวจพบความผิดปกติในวงจรไฟฟ้า

ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันกระแสเกินหรือลัดวงจรเช่นเดียวกับฟิวส์ แต่จะแตกต่างกันตรงที่เมื่อตัดวงจรแล้วสามารถที่จะปิดหรือต่อวงจรได้ทันทีหลังจากแก้ปัญหาแล้ว

เบรกเกอร์มีหลายแบบ ทั้งเบรกเกอร์ขนาดเล็กที่ใช้ป้องกันสำหรับวงจรที่มีกระแสไฟฟ้าต่ำหรือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จนถึงสวิตช์ขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันวงจรไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟให้ตัวเมือง

ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์

เบรกเกอร์จะถูกแบ่งออกเป็นแต่ละประเภทตามพิกัดแรงดันไฟฟ้าหรือการออกแบบ หากแบ่งตามพิกัดแรงดันไฟฟ้าจะแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่ Low Voltage เบรกเกอร์, Medium Voltage เบรกเกอร์ และ High Voltage เบรกเกอร์ เบรกเกอร์ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันคือ Low Voltage เบรกเกอร์ เบรกเกอร์กลุ่ม Low Voltage คือพวก MCB, MCCB และ ACB เบรกเกอร์เหล่านี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามการออกแบบ ทั้งขนาด รูปร่างที่ถูกออกแบบมาให้เข้ากับการใช้งานหลากหลายประเภท บทความเหล่านี้จะช่วยให้คุณเข้าใจและสามารถเลือกซื้อ Circuit Breaker ที่ตรงตามความต้องการได้จริงๆ

ประเภทเบรกเกอร์

บทความแนะนำ

IIot กับ Iot ต่างกันอย่างไร?

Industrial IoT เป็นสับเซตของ IoT แต่มีหลายส่วนที่แตกต่างกัน โฟกัสและจุดประสงค์ในการใช้งานแตกต่างกันหลายส่วน เรามาดูรายละเอียดกันในบทความนี้

ดาวน์โหลดคู่มือเบรกเกอร์ Circuit Breaker ได้ฟรี!!!

LOW VOLTAGE CIRCUIT BREAKERS

น้อยกว่า 1,000 VAC

เป็นเบรกเกอร์แบบที่ใช้งานทั่วไป ใช้งานเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิท ตู้ DB หรือตู้โหลดเซ็นเตอร์ เบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ มีดังนี้ MCB, MCCB, RCD และ ACB

MEDIUM VOLTAGE CIRCUIT BREAKERS

1 - 72 kV AC

ติดตั้งในตู้เหล็กสวิตช์ขนาดใหญ่ (Switchgear lineups) สำหรับใช้ในอาคารหรืออาจใช้เป็นชิ้นส่วนติดตั้งภายนอกในสถานีย่อย เช่น ACB, Oil-filled Circuit Breaker และ Vacuum Circuit Breakers

HIGH VOLTAGE CIRCUIT BREAKERS

72.5 kV AC หรือสูงกว่า

ติดตั้งในเครือข่ายการส่งกำลังไฟฟ้าที่ต้องมีการป้องกันและควบคุมโดยเซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าสูง งานส่งกำลังจะมีขนาดแรงดันไฟ 72.5 kV หรือสูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น Solenoid Circuit Breaker

เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ : Low Voltage Circuit Breakers

เป็นเบรกเกอร์แบบที่ใช้งานทั่วไป ใช้งานเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิท ตู้ DB หรือตู้โหลดเซ็นเตอร์ เบรกเกอร์ชนิดนี้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน IEC 947 เบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำมักถูกติดตั้งในตู้ที่เปิดออกได้ ซึ่งสามารถถอดและเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องถอดสวิตช์ออก ตัวอย่างเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ มีดังนี้ MCB, RCCB, RCBO, MCCB และ ACB

1. Miniature Circuit Breakers (MCBs)

Miniature circuit breaker หรือเรียกว่าเบรกเกอร์ลูกย่อย MCB เป็นเบรกเกอร์ชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็ก สำหรับใช้ในบ้านหรืออาคารที่มีกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 100 A มีทั้งขนาด 1, 2, 3 และ 4 Pole ใช้ได้กับระบบไฟฟ้า 1 เฟสและ 3 เฟส เบรกเกอร์ลูกย่อย MCB มี 2 แบบที่นิยมใช้กันคือ Plug-on และ DIN-rail ในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้แบบ Plug-on ที่รู้จักกันมากคือเบรกเกอร์ลูกย่อย MCB Square D ของ Schneider Electric

เบรกเกอร์ลูกย่อย MCB ส่วนมากใช้ติดตั้งภายในอาคาร ใช้ติดตั้งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับแผงจ่ายไฟฟ้าย่อย (Load center) หรือแผงจ่ายไฟฟ้าในห้องพักอาศัย (Consumer unit) มีพิกัดกระแสลัดวงจรต่ำ เป็นเบรกเกอร์ชนิดที่ไม่สามารถปรับตั้งค่ากระแสตัดวงจรได้ และส่วนใหญ่จะอาศัยกลไกการปลดวงจรในรูปแบบ thermal และ magnetic

เบรกเกอร์ลูกย่อย MCB ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น ลูกเซอร์กิต เบรกเกอร์ MCB Square D ของแบรนด์ Schneider ที่จะพบบ่อยตามบ้านเรือนคนไทย นอกจากนี้ยังมีเบรกเกอร์ MCB Schneider รุ่นอื่นๆ อีกมากมายที่ได้รับความนิยม และเบรกเกอร์ MCB ของ ABB จะถูกติตดั้งในตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิท หรือตู้โหลดเซ็นเตอร์

ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

ภาพ Miniature Circuit Breakers (MCBs)

2. Residual Current Devices (RCDs)

อุปกรณ์ที่ใช้กันไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช๊อตเฉพาะ คือเครื่องตัดไฟรั่ว RCD (Residual Current Devices) ช่วยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น มี 3 ประเภท ได้แก่ RCBO, RCCB และ ELCB ซึ่งแต่ละตัวจะมีการทำงานที่แตกต่างกัน ทำหน้าที่ในการตัดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟรั่วและไฟดูด (ไฟช็อต) ตามพิกัดที่กำหนดไว้ จะติดตั้งใน ตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิท Consumer unit และตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า

Residual Current Circuit Breakers (RCCBs)

เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ชนิดหนึ่งที่ช่วยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดการรั่วไหลในระบบไฟฟ้าแต่ไม่สามารถตัดกระแสลัดวงจรได้ ในการทำงานนั้นจะใช้ควบคู่กับ MCB, MCCB

Residual Current Circuit Breakers with Overload protection (RCBOs)

เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด (ไฟช็อต) พร้อมมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ในตัว สามารถตัดวงจรได้ทั้งกรณีที่มีไฟรั่วและมีกระแสลัดวงจร

ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

ภาพ Residual Current Devices (RCDs)

3. Moulded Case Circuit Breakers (MCCB)

เบรกเกอร์ MCCB (Molded Case Circuit Breaker) เป็นเบรกเกอร์ชนิดหนึ่งที่เป็นทั้งสวิตช์เปิด-ปิดวงจรไฟฟ้า และเปิดวงจรเมื่อมีกระแสเกินหรือไฟลัดวงจร เบรกเกอร์ชนิดนี้ใช้กับกระแสไฟตั้งแต่ 100 – 2,300 A เหมาะกับติดตั้งในอาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม ติดตั้งในพาเนล บอร์ด

การเลือกใช้งานบางครั้งจะเลือกเบรกเกอร์ผิดประเภท ระหว่าง MCB กับ MCCB เนื่องจากเบรกเกอร์ทั้ง 2 แบบมีพิกัดทนกระแสใช้งาน (AT) ที่คล้ายกัน แต่ถ้าจะให้แน่นอนจริงๆ ต้องดูที่ค่าพิกัดกระแสลัดวงจรสูงสุดที่ปลอดภัยของเบรคเกอร์ตัวนั้นๆ หรือค่า IC (kA) หากใช้ในอาคารขนาดใหญ่ต้องใช้เบรกเกอร์ MCCB และถ้าในบ้านพักถึงจะใช้เบรกเกอร์ลูกย่อย MCB แล้วต้องเลือกที่พิกัดเท่าไหร่กันถึงจะปลอดภัย?

เบรกเกอร์ประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นที่นิยมสำหรับการใช้งานในโรงงานอุสหกรรมและอาคารขนาดใหญ่ ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทนกระแสลัดวงจรหรือค่า kA และรองรับกระแสที่สูงกว่าเบรกเกอร์ลูกย่อย (MCB) แต่น้อยกว่าเบรกเกอร์ประเภท ACB ซึ่งขนาดกระแสจะมีตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพันแอมป์ ส่วนใหญ่ติดตั้งไว้ในตู้โหลดเซ็นเตอร์ Load Center

เบรกเกอร์ MCCB EasyPact NSX Schneider

ภาพ Moulded Case Circuit Breakers (MCCB)

4. Air Circuit Breakers (ACB)

Air Circuit Breaker (ACB) หรือแอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์ เป็นเบรกเกอร์ขนาดใหญ่ มีความแข็งแรง ทนทานต่อกระแสไฟฟ้าลัดวงจรสูง มีพิกัดกระแสไฟฟ้าสูงถึง 6300 A ทำให้ราคาของเบรกเกอร์ ACB มีราคาแพง และนับว่าเป็นเบรกเกอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ (LV) ส่วนมากใช้เป็น Main เบรกเกอร์ในวงจรไฟฟ้า ถูกติดตั้งไว้ในตู้ MDB เบรกเกอร์ ACB จะมีทั้งแบบติดตั้งอยู่กับที่ (Fixed Type) และแบบถอดออกได้ (Drawout Type) เบรกเกอร์ชนิดนี้สามารถเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่างๆ เข้าไปได้ตามความต้องการ ต่างจากเบรกเกอร์ MCCB ที่จะเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปภายหลังไม่ได้

เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้ป้องกันสายเมน นิยมใช้กับงานแรงดันสูงๆ (HVAC) โครงสร้างทั่วไปทำด้วยเหล็กมีช่องดับอาร์ก (Arcing chamber) ที่ใหญ่และแข็งแรงเพื่อให้สามารถรับกระแสลัดวงจรจำนวนมากได้ ส่วนใหญ่จะมีหลักการทำงานโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจจับและวิเคราะห์กระแสเพื่อสั่งปลดวงจร

ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

ภาพ Air Circuit Breakers (ACB)

เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าปานกลาง : Medium Voltage Circuit Breakers

อาจจะประกอบเข้าไปในตู้เหล็กสวิตช์ขนาดใหญ่ (metal-enclosed switchgear lineups) สำหรับใช้ในอาคารหรืออาจใช้เป็นชิ้นส่วนติดตั้งภายนอกในสถานีย่อย เช่น แอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์ (ACB) ที่มีการอัดน้ำมันเข้าไปให้ทำงาน สำหรับใช้งานภายนอกอาคาร แต่ปัจจุบันหันมาใช้เบรคเกอร์สูญญากาศ (Vacuum Circuit Breakers) แทน มีแรงดันไฟฟ้าประมาณ 40.5 กิโลโวลต์ เบรกเกอร์เหล่านี้ทำงานโดยรีเลย์ตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ทำงานผ่านหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า ลักษณะของเบรกเกอร์แรงดันไฟปานกลางได้การรับรองจากมาตรฐาน IEC 62271 และเบรกเกอร์ชนิดนี้มักใช้เซ็นเซอร์กระแสสลับและรีเลย์ป้องกันแทนการใช้เซ็นเซอร์วัดความร้อนหรือแม่เหล็กในตัว

เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าสูง : High Voltage Circuit Breakers

เครือข่ายการส่งกำลังไฟฟ้ามีการป้องกันและควบคุมโดยเซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าสูง ความหมายของ “แรงดันไฟฟ้าสูง” อาจมีความแตกต่างกันไป แต่ในงานส่งกำลังจะมีขนาดแรงดันไฟ 72.5 kV หรือสูงกว่า (ตามคำจำกัดความล่าสุดของ IEC) เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟสูงจะทำงานด้วยขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีรีเลย์ตรวจจับกระแสไฟที่ทำงานผ่านหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าอีกที ในส่วนของชุดรีเลย์ป้องกันที่ซับซ้อนนั้น ช่วยป้องกันอุปกรณ์จากโหลดเกินหรือไฟรั่วลงดินได้

เป็นอย่างไรบ้างครับ หากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเข้ามาได้เลยนะครับ หรือท่านใดต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการทำงานของเซอร์กิตเบรกเกอร์, วิธีการเลือกซื้อเซอร์กิตเบรกเกอร์,วิธีการติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์, การใช้งานเซอร์กิตเบรกเกอร์ในงานอุตสาหกรรม ทางFactomart.com ได้จัดทำไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ หรือท่านใดต้องการเลือกชมสินค้าสามารถเข้ามาได้ที่ Factomart.com ครับผม