การเลือกม่านแสงนิรภัย และการติดตั้งอย่างถูกวิธี

Share this post

บริเวณการทำงานที่มีความเสี่ยงต้องติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยไว้เสมอ ม่านแสงนิรภัยจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตำแหน่งเครื่องจักรไม่มีรูปแบบตายตัว ดังนั้นการติดตั้งม่านแสงนิรภัยจึงต้องมีการออกแบบให้ดี สามารถทำงานได้สมบูรณ์ ป้องกันได้ถูกจุด มาดูกันว่าจะติดตั้งอย่างไรให้ถูกต้องที่สุด

ในโรงงานอุตสาหกรรมมีอุปกรณ์เซฟตี้มากมายหลายแบบที่ใช้กับเครื่องจักรอันตราย แต่ที่นิยมใช้กันมากและมักเป็นตัวเลือกแรกๆที่เรานึกถึงคือ ม่านแสงเซฟตี้ (safety light curtain) เหตุผลเพราะหลักการทำงานของมันจะไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของคนหรือสิ่งของผ่านการตรวจจับของลำแสงเข้าไปอยู่ในโซนอันตรายได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่จะให้ได้ความปลอดภัยสูงสุดและเหมาะสมกับงานต้องคำนึงถึงหลักการออกแบบ เลือกใช้และติดตั้งที่ถูกต้องด้วย มีหลายโรงงานที่ใช้ม่านแสงเซฟตี้แล้วยังประสบปัญหาเกิดอุบัติเหตุกับคนงานขึ้นเพราะการใช้งานไม่ถูกวิธี

การทำงานของม่านแสงนิรภัย

ถ้ามองง่ายๆ ก็เหมือนกับเอาโฟโตเซ็นเซอร์หลายๆ ตัวมาต่อเรียงกัน โดยจะยิงลำแสงจากตัวส่งไปที่ตัวรับ แต่ที่แตกต่างกันและมีความสำคัญมากคือ มันจะยิงรับส่งกันทีละคู่เท่านั้น โดยเรียงจากบนลงล่างแล้วเวียนกลับขึ้นมาใหม่ ด้วยความเร็วสูงมาก เพื่อที่จะให้ได้ความละเอียดของม่านแสงสูงสุด และมีการตรวจเช็คว่าเมื่อตัวส่งยิงไปแล้ว ตัวรับของคู่ของมันเท่านั้นได้รับรึเปล่าเป็นการตรวจสอบว่าอุปกรณ์เซฟตี้ทำงานสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าผิดไปจากเงื่อนไขเหล่านี้แสดงว่าอุปกรณ์เซฟตี้มีปัญหา หากเราใช้งานเครื่องจักรนี้ต่อไปอาจเกิดเหตุอันตรายได้

มีความเข้าใจผิดหลายอย่างในงานเซฟตี้ที่เลือกใช้โฟโตเซ็นเซอร์ธรรมดาหรือม่านแสงธรรมดาที่ไม่ใช่เซฟตี้แล้วมีความรู้สึกว่าเราได้ติดตั้งระบบเซฟตี้ไปแล้วนั้นเป็นความอันตรายอย่างมาก เพราะการใช้โฟโตเซ็นเซอร์จะมีความละเอียดในการตรวจจับที่น้อย เพราะระยะห่างระหว่างลำแสงแต่ละชั้นจะมากทำให้ตรวจจับนิ้วหรือมือไม่ได้จับได้แต่แขนหรือลำตัว ถ้าติดให้แต่ละชั้นใกล้ลงมาก็จะตรวจจับไม่เจอเลยเพราะแสงของชั้นอื่นจะมากวนทำให้เซ็นเซอร์คิดว่าไม่มีอะไรมาบัง

ปัจจัยสำคัญสำหรับการออกแบบติดตั้ง

การออกแบบตำแหน่งการติดตั้งม่านแสงนิรภัยนั้น มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอยู่ 4 อย่าง ดังนี้

ระดับความร้ายแรง (category, type)

ระดับความร้ายแรงเป็นปัจจัยอันดับแรกในการเลือกใช้ สำหรับม่านแสงเซฟตี้ที่ใช้คือ ระดับ 2 (type 2) และ ระดับ 4 (type 4) สรุปการแบ่งให้เข้าใจง่ายๆ ตามภาพด้านล่าง

อธิบายสัญลักษณ์ตามนี้

S = ความรุนแรงของการบาดเจ็บ แบ่งเป็น S1 = บาดเจ็บเล็กน้อย และ S2 = บาดเจ็บสาหัสถึงเสียชีวิต

F = ความถี่ที่จะเกิดเหตุอันตราย แบ่งเป็น F1 = ไม่ค่อยเกิดขึ้น และ F2 = เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

P = ความเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงอันตราย แบ่งเป็น P1 = หลีกเลี่ยงได้ ถ้ามีอุปกรณ์พิเศษ และ P2 = หลีกเลียงได้ยาก

สรุปว่าถ้าเกิดอันตรายทำให้ได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ถึงขั้นพิการให้ใช้ type 2 แต่ถ้าหากเกิดเหตุอันตรายขึ้นทำให้พิการหรือเสียชีวิต และมีการใช้งานเป็นประจำให้ใช้ type 4 โดย type 4 จะมีวงจรการป้องกันถึง 2 ชั้น เพื่อให้ระบบความปลอดภัยมีเสถียรภาพสูงสุด

ความละเอียด (resolution) หรือระยะห่างระหว่างลำแสง

แบ่งการป้องกันได้ 3 ระดับ ดังนี้

ป้องกันนิ้ว

(14mm , D) เป็นแบบที่ละเอียดที่สุด และติดตั้งใกล้เครื่องจักรมากที่สุด ในพื้นที่จำกัดและเครื่องจักรที่อันตรายมากๆ เรามีความจำเป็นต้องเลือกม่านแสงเซฟตี้ที่ละเอียดที่สุดและเป็น type4

ป้องกันมือหรือแขน

(20-30mm , C) ส่วนมากใช้กับงานป้องกันทั่วๆไป โดยต้องติดให้ห่างจากบริเวณที่มีอันตรายมากกว่าความยาวของมือหรือประมาณ 30cm

ป้องกันร่างกาย

(50mmขึ้นไป, A B) ในแบบนี้จะใช้ป้องกันคนไม่ให้เดินเข้าไปในบริเวณที่เป็นอันตราย โดยจะมีระยะยิงไกลมากกว่า 30m ขึ้นไป

ลักษณะรูปร่าง ความแข็งแรง และการติดตั้ง

แบ่งตามรูปแบบการติดตั้งได้ 3 แบบ ดังนี้

แบบ 1 แกน

เป็นแบบที่นิยมใช้ทั่วไปจะเป็นลักษณะแกนเดี่ยวสูงตั้งแต่ 150mm – 2m โดยความสูงของม่านแสงจะต้องครอบคุมพื้นที่อันตราย อาจจะติดแนวนอนก็ได้ถ้ามีพื้นที่มาก แต่ต้องติดสูงกว่าพื้นประมาณ1เมตรเพื่อตรวจจับลำตัวคนได้อย่างแน่นอน

แบบ cascade

คือ การเอาม่านแสงมาต่ออนุกรมเพื่อให้สามารถป้องกันได้หลายแกน

แบบใช้แผ่นสะท้อน

เหมาะสำหรับงานที่ต้องการกั้นพื้นที่ให้เป็นที่ปลอดภัยเป็นบริเวณกว้าง และให้ต่อวงจรแบบ Latch โดยให้ปุ่มresetระบบอยู่ข้างนอกโซนเพื่อเป็นการป้องกันคนยังอยู่ในพื้นที่อันตราย

รูปแบบการทำงาน

แบ่งตามรูปแบบการทำงานได้ 2 แบบ ดังนี้

แบบ auto หรือ trip

การทำงาน คือ เมื่อตรวจจับเจอมือเครื่องจักรจะหยุดทำงานและเมื่อเอามือออกมาเครื่องจักรจะทำงานต่อได้เลย การทำงานแบบนี้เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความต่อเนื่อง และรวดเร็ว ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะไม่ร้ายแรงนัก

แบบ manual หรือ latch

การทำงาน คือ เมื่อตรวจจับเจอมือ เครื่องจักรจะหยุดทำงานและเมื่อเอามือออกมาเครื่องจักรจะหยุดทำงานค้างอยู่อย่างนั้น จนกว่าเราจะกดปุ่ม reset เครื่องถึงจะทำงานต่อ การทำงานแบบนี้เหมาะสำหรับงานที่มีความอันตรายมาก เช่น เครื่องปั๊มขึ้นรูปชิ้นงานใหญ่

จากภาพด้านล่างเป็นการเปรียบเทียบการทำงานของแบบ Trip และแบบ Latch

ปัจจุบันนี้ยังมีการใช้ม่านแสงเซฟตี้ในรูปแบบต่างๆ อีกมาก ซึ่งแต่ละแบบที่ใช้อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะหน้างานและความต้องการของผู้ใช้งานที่มีความหลากหลาย ซึ่งม่านแสงเซฟตี้ก็เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงแต่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ เพราะฉะนั้นหากเราต้องการความปลอดภัยสูงสุดในราคาที่เหมาะสมควรศึกษาให้ละเอียดหรือสอบถามจากผู้มีประสบการณ์และชำนาญการใช้งาน

ถ้าคุณมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้า สามารถแชทมาหาเราได้ทันทีจากช่องแชทด้านล่างขวามือ หรือส่งเมลล์มาที่ [email protected] หรือผ่าน Line ที่ @factomart และเบอร์โทร 021-050-567 ได้หลากหลายช่องทาง มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำตลอดเวลาทำการ

Facebook Comments