ในการสตาร์ทมอเตอร์จากจุดหยุดนิ่งนั้นจำต้องใช้กระแสจำนวนมากในการเอาชนะแรงเฉื่อย โดยเฉพาะมอเตอร์ตัวใหญ่ที่สามารถจะสร้างผลกระทบต่อแหล่งจ่ายไฟฟ้าและสร้างความเสียหายต่อตัวมอเตอร์เองหรือโหลดต่างๆ ในระบบได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบไฟฟ้าในขณะที่มีการสตาร์ทมอเตอร์เราจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการสตาร์ทมอเตอร์ให้เหมาะสม แต่ละวิธีการสตาร์ทได้ถูกออกแบบมาให้รับมือกับปัญหานี้ มาดูกันว่าการสตาร์ทมอเตอร์ที่ว่านี้ มีแบบไหนบ้างและต่างกันอย่างไร
การสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง
หลักการเบื้องต้นของการลดกระแสสตาร์ทของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง ทำได้โดยนำความต้านทานมาต่อนุกรมกับขดลวดอาเมเจอร์ เพื่อช่วยลดปริมาณกระแสที่ไหลผ่านในขดลวดอาเมเจอร์ เมื่อมอเตอร์หมุนไปแล้วก็จะค่อยๆลดค่าความต้านทานลงทีละน้อย จนปลดความต้านทานนี้ออกไปจากขดลวดอาเมเจอร์ในที่สุด
การสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ
การสตาร์ทมอเตอร์โดยตรง (Direct on Line Starter)
เป็นการสตาร์ทด้วยการใช้แรงดันเต็มพิกัด นิยมใช้ในการสตาร์ทมอเตอร์ขนาดเล็ก โดยที่มอเตอร์จะถูกต่อผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สวิตซ์ คอนแทคเตอร์ เบรกเกอร์ เป็นต้น โดยใช้แรงดันพิกัดทันทีทันใด ทำให้กระแสที่เกิดขึ้นมีค่าประมาณ 6 – 8 เท่าของกระแสพิกัด a
การสตาร์ทมอเตอร์โดยใช้หม้อแปลงอัตโนมัติ (Auto-Transformer Starter)
เป็นวิธีการสตาร์ทมอเตอร์โดยการใช้หม้อแปลงออโต้ที่มีขดลวดหลายชุดที่สามารถเปลี่ยนแท็ปแรงดันได้หลายระดับ เช่น 55%, 65%, หรือ 80% ของแรงดันพิกัด โดยจะรักษาระดับแรงดันในช่วงที่มอเตอร์มีความเร็วรอบเพิ่มขึ้น จนกว่าจะมีคำสั่งให้สับมอเตอร์แต่ละระดับเข้าเป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่ระดับแรงดันเต็มพิกัด
การสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์-เดลต้า (Start-Delta Starter)
เป็นวิธีการสตาร์ทมอเตอร์ที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจากทำได้ง่ายและเหมาะที่จะใช้กับมอเตอร์เหนี่ยวนำ โดยมีหลักการทำงาน คือ ขณะที่ทำการสตาร์ทมอเตอร์จะทำการต่อแบบสตาร์ ซึ่งช่วยลดกระแสขณะสตาร์ทได้ และเมื่อมอเตอร์เริ่มหมุนไปได้ระยะหนึ่งก็จะทำการต่อแบบเดลต้า
การสตาร์ทมอเตอร์แบบซอฟท์สตาร์ทเตอร์ (Electronic Soft Starter)
วิธีนี้มีหลักการ คือ ใช้วงจรอิเล็คทรอนิคส์กำลังในการตัดต่อกระแสไฟฟ้าที่เข้าไปยังขดลวดมอเตอร์ โดยการปรับเพิ่มแรงดันที่จ่ายให้กับมอเตอร์อย่างช้าๆและนิ่มนวลจนถึงระดับแรงดันพิกัด ทำให้สามารถป้องกันกระแสอินรัชที่มีค่าสูงและป้องกันแรงกระแทกที่มีผลต่ออุปกรณ์ทางกลของมอเตอร์ นอกจากนี้ยังมีความแม่นยำ ความหลากหลาย และประสิทธิภาพในการป้องมอเตอร์สูงอีกด้วย
จากหลักการการสตาร์ทมอเตอร์ที่แตกต่างกัน หากเราเลือกใช้วิธีการสตาร์ทมอเตอร์ได้อย่างเหมาะสม เราก็สามารถหมดกังวลในเรื่องของผลกระทบต่อแหล่งจ่ายไฟได้แน่นอน