ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องมือวัดอัตราการไหล หลายท่านคงนึกถึง Ultrasonic Flow, Mass Flow หรือ Magnetic Flow อาจเพราะ Flowmeter เหล่านี้มีคุณสมบัติใช้กับงานวัดปริมาณและควบคุมอัตราการไหลกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมี Flowmeter ที่สามารถวัดปริมาณและควบคุมอัตราการไหลได้ดีอย่าง Paddle Wheel Flow ที่ราคาไม่แพง ทนทาน ใช้งานได้หลากหลาย เราลองมาพิจารณาดูถึงโครงสร้าง หลักการทำงาน คุณสมบัติ การติดตั้ง และการประยุกต์ใช้งานกันครับ
Paddle Wheel Flowmeter คืออะไร
เป็นมิเตอร์สำหรับวัดการไหลของของเหลวได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำ น้ำมัน Paddle Wheel Flowmeter มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Inline Flowmeter เป็นมิเตอร์ที่มีขนาดกะทัดรัด สามารถติดตั้งได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน โดยไม่ส่งผลต่ออุปกรณ์ Paddle Wheel Flowmeter จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เซนเซอร์ ข้อต่อหรือท่อ และจอแสดง/คอนโทรลเลอร์ ซึ่ง Flowmeter ชนิดนี้จะมีส่วนล้อที่หมุนได้อย่างอิสระหรือใบพัดที่มีแม่เหล็กฝังอยู่ ซึ่งตั้งฉากกับการไหล
Paddle Wheel Flowmeter เหมาะกับการวัดที่ต้องการความแม่นยำสูง การติดตั้งง่ายและมีราคาไม่แพง ใช้วัดอัตราการไหลได้หลากหลายแบบ แต่ Flowmeter แบบนี้จะเหมาะกับของเหลวที่สะอาด เนื่องจากสิ่งสกปรกจะไปขัดขวางการหมุนของใบพัด ไม่เหมาะกับของเหลวที่มีความหนืด และใช้วัดก๊าซไม่ได้
หลักการทำงานของ Paddle Wheel Flowmeter
เมื่อแม่เหล็กที่อยู่ในใบพัดหมุนผ่านเซนเซอร์ ตัว Paddle wheel flowmeter จะสร้างความถี่และสัญญาณแรงดันไฟฟ้า ซึ่งแปรผันตรงกับอัตราการไหล ยิ่งการไหลเร็วขึ้นเท่าใด ความถี่และแรงดันเอาต์พุตก็จะสูงขึ้นตามเท่านั้น
Paddle wheel flowmeter ถูกออกแบบมาให้เสียบเข้ากับท่อได้ทั้งแบบ in-line หรือแบบแทรก อุปกรณ์เหล่านี้จะมีให้เลือกหลากหลายทั้งขนาดและรูปทรง วัสดุที่ใช้เชื่อมต่อก็อย่างเช่น PVPE, Polypropylene และสแตนเลส ซึ่ง Flowmeter แบบนี้จำเป็นต้องใช้ท่อตรงต่อเข้าที่ก่อนและหลังมิเตอร์ เพื่อให้ใบพัดหมุนได้สะดวกขึ้น
ส่วนจอแสดงผลและคอนโทรลเลอร์ใช้เพื่อรับสัญญาณจาก paddle wheel meter และนำมาแปลงเป็นอัตราการไหลจริงหรือค่าการไหลรวม สัญญาณประมวลผลนี้สามารถใช้สร้างสัญญาณเตือน เพื่อส่งสัญญาณไปยังภายนอกได้
การติดตั้ง Paddle Wheel Flowmeter
การติดตั้งท่อก่อนถึงตัว Paddle Wheel Flowmeter จะต้องเป็นท่อตรง และมีขนาด Diameter เท่ากับตัว Flowmeter และมีความยาวตรงอย่างน้อย 10 เท่าของขนาด Diameter ของท่อ และท่อด้านหลังที่ต้องมีความยาวตรงอย่างน้อย 5 เท่าของ Diameter ของท่อ
การติดตั้ง Valve, Fitting, Fillter หรือ Reducer ควรติดตั้งในช่วงก่อนเข้าตัว Flowmeter แต่ถ้าติดตั้งไม่ได้ตามที่กล่าวข้างต้นอาจจะทำให้เกิดกระแสของเหลวไหลวน (Turbulence) ซึ่งมีผลทำให้ Flowmeter อ่านค่าได้ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง การติดตั้งสามารถติดตั้งได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ในการติดตั้งในแนวตั้งต้องเป็นลักษณะของเหลวไหลขึ้น เพราะของเหลวจะไหลเต็มพื้นที่หน้าตัดท่อ
ตัวกรอง (Strainer) ก็มีความสำคัญติดตั้งไว้สำหรับป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจปะปนมา เช่น เทปพันเกลียวหรือเศษลวดเชื่อมระหว่างการติดตั้ง เพราะถ้ามีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้ามาอาจทำให้การวัดผิดเพี้ยน หรืออาจทำให้เสียหายได้
สัญญาณที่ออกจาก Paddle Wheel Flowmeter มีลักษณะเป็นพัลซ์ มีขนาดสัญญาณต่ำ ดังนั้นสายตัวนำสัญญาณเข้ามิเตอร์จะต้องใช้สาย Shield อย่างดี เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากสัญญาณรบกวนภายนอก
การนำ Paddle Wheel Flowmeter ไปต่อร่วมกับท่อขนาดต่างๆ จะต้องมีท่อสามทางต่อร่วมด้วย ซึ่งท่อสามทางที่ต่อร่วมด้วยต้องมีโครงสร้างภายในราบเรียบ ทำให้ของเหลวไหลผ่านราบเรียบด้วย ส่งผลให้สัญญาณเอาต์พุต Paddle Wheel Flowmeter ถูกต้อง
สำหรับท่อขนาดใหญ่ 6” ขึ้นไปก็จะมี MOUNTING FLOW SENSOR มาต่อร่วมด้วย เพื่อปรับระยะของ Paddle Flow Sensor ลงลึกไปในแนวท่อ มากกว่า ¼ ท่อ แต่ไม่เกิน ½ ท่อ
จากคุณสมบัติของ Paddle Wheel Flowmeter ที่สามารถใช้วัดกับอัตราการไหลที่ค่อนข้างหลากหลาย และโครงสร้างแข็งแรง ใช้กับสารเคมีที่เป็นกรดอ่อนและด่างอ่อนได้ เราจึงนำ Paddle Wheel Flowmeter มาประยุกต์ใช้งานต่างๆ เช่น วัดปริมาณน้ำในการผสมปูน, ผสมเคมี, ผสมอาหาร, หรือนำมาวัดปริมาณการใช้น้ำของแต่ละรายผลิต-โรงงาน อีกทั้งเรานำมาควบคุมอัตราการไหลของน้ำของชุดระบายความร้อน หรือน้ำมันหล่อลื่นของชุดเกียร์ หรือนำมาป้องกันการเสียหายของปั๊มจากปริมาณของน้ำที่ขาดหายในระบบก็ได้
ถ้าคุณมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้า สามารถแชทมาหาเราได้ทันทีจากช่องแชทด้านล่างขวามือ หรือส่งเมลล์มาที่ [email protected] หรือผ่าน Line ที่ @factomart และเบอร์โทร 021-050-567 ได้หลากหลายช่องทาง มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำตลอดเวลาทำการ