"หลายหลากคำถามเกี่ยวกับ CT Current Transformer" Questions about CT
สวัสดีท่านผู้อ่านที่น่าฮักค่ะ….ในฉบับนี้เราจะมานำเสนอเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับ Current Transformer ที่เรามักได้ยินปุถุชนส่วนใหญ่ขนานนามกันว่า CT
CT เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการวัดกระแสไฟฟ้าโดยต่อร่วมกับเครื่องวัดกระแส โดยทำหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้าที่วัดให้เหมาะสมกับพิกัดกระแสไฟฟ้าที่ขดลวดกระแสของเครื่องวัด เช่น 100/5 500/5 เป็นต้น
อะไรคือ Ratio ของ CT
Ratio คืออัตราส่วนของการแปลงกระแส จากกระแสด้าน primary เป็นกระแสด้าน secondary เช่น ratio ของ CT 300 : 5 มีความหมายว่า ‘CT มี rated primary current เท่ากับ 300 A และ rated secondary current มีค่า 5A’
ข้อควรระวังของ Current Transformer!
ห้าม Open Circuit ด้าน Secondary ของ CT ในขณะที่มีกระแสไหลผ่านขดลวดของ CT ด้าน Primary เด็ดขาด!!!
ที่กล่าวมาข้างต้นคือ ข้อมูลพื้นฐานของ CT ต่อจากนี้เราจะมาตอบคำถามที่ผู้ใช้งานหลายท่านค้างคาใจกันอยู่ เริ่มกันเลยนะคะ
ปุจฉา “หากใช้ CT เกินหรือต่ำกว่าค่าพิกัดกระแสที่กำหนดจะส่งผลอย่างไร???”
วิสัชนา จริงๆแล้วต้องบอกว่า CT นั้นจะมี “accuracy ที่ดีที่สุดเมื่อใช้งานเต็มพิกัด” นั่นหมายความว่า หาก CT 100/5 ก็ควรใช้งานที่ 100 A จะดีสุด แต่หากว่าไม่ได้ใช้งานตามนั้น ค่า Accuracy ก็จะเพี้ยนเปลี่ยนไป ดังตารางต่อไปนี้
จากตารางสามารถยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายได้ว่า
– หากเลือกใช้ CT : Class 0.5 , 100/5 A
กรณีใช้ที่พิกัด 100 % (100 A) > ค่า Accuracy จะยังคงเป็น 0.5 เท่าเดิม
กรณีใช้ที่พิกัด 20 % (20 A) > ค่า Accuracy จะเปลี่ยนเป็น 0.75
กรณีใช้ที่พิกัดเกิน 100 % (ใช้กับกระแสมากกว่า 100 A) > ค่า Accuracy นั้นไม่สามารถบอกได้เลยค่ะ TT
ปุจฉา แล้วจากข้างต้นมีวิธีการแก้ไขอย่างไร???
วิสัชนา ไม่เป็นปัญหาค่ะ เรามีวิธีแก้กล่าวคือ หากเรามี CT 100/5 A แต่!!!เราต้องการใช้กับกระแสเพียง 20 A ก็ไม่ต้องลำบากไปหาซื้อ CT ใหม่นะคะ เพียงแต่พัน CT ที่ฝั่ง primary 100/20 = 5 รอบ เพียงเท่านั้น ก็สามารถใช้ CT ตัวเดิมได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่แล้ว และหากว่าจะใช้ที่ค่ากระแสอื่นๆก็ยังทำได้นะคะ ดังตาราง
ยกเว้นกรณีที่ต้องการใช้ CT เกินค่ากระแสที่กำหนด เช่น มี CT 100/5 แต่ต้องการใช้กระแส 150 A กรณีแบบนี้ไม่สามารถใช้ได้นะคะ
ปุจฉา ค่า Burden คืออะไรเอ่ย
วิสัชนา ค่า Burden หมายถึง กำลังไฟฟ้าของหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า โดยถ้าอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกตัวที่ต่ออนุกรมกับขด secondary มีกำลังไฟฟ้าสูญเสียในเครื่องวัดรวมกำลังไฟฟ้าสูญเสียในสายวัดมีค่าภายใต้เบอร์เดนของหม้อแปลงไฟฟ้าแล้ว ความผิดพลาดจากการวัดจะเป็นไปตามคลาสของหม้อแปลงกระแสไฟฟ้านั้น
นั่นคือ กำลังไฟฟ้าสูญเสียในเครื่องวัด + กำลังไฟฟ้าในสายวัด + …. < กำลังไฟฟ้าสูญเสียของ CT
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคำถามที่พบบ่อยๆ นอกจากนั้นแล้วก็ขอนำเสนอความรู้เพิ่ม นั่นคือมี Current Transformer แบบพิเศษที่ใช้กับการตรวจจับกระแสรั่วลงดินเรียกว่า Zero current transformer (ZCT) หลักการก็คือ จะต้องนำ R, S, T, N ผ่านตัว ZCT ทั้ง 4 เส้น หากไม่มีกระแสส่วนหนึ่งส่วนใดรั่วไหลออกไปที่อื่นก็จะทำให้ผลรวมของกระแสสามเฟสจะเป็น 0 จะไม่มีกระแสไฟฟ้าที่หลงเหลือไปที่ Earth-Leakage Protection Relay (ไม่สั่งทริป) แต่ถ้าหากมีกระแสปริมาณหนึ่งไหลออกจากนอกระบบ(ลงที่โครงตู้หรืออื่นๆ)จะทำให้ผลรวมของกระแสไม่เท่ากับ 0 จะมีกระแสไหลไปที่ Eartleakage relay ถ้าปริมาณมากเกินที่ตั้งไว้ ก็จะสั่งให้ Main-circuit breaker ทริปทันที
ที่กล่าวมาข้างต้นคือเกร็ดความรู้ของ CT หวังว่าท่านผู้อ่านคงเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้นนะคะ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าค่ะ^^