ในปัจจุบันเทคโนโลยี RFID เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่พบเห็นได้บ่อยทั่วโลก ใช้ควบคู่กับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ในรูปแบบการใช้งานต่างๆ กัน เช่น ตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า คีย์การ์ด หรือในอุตสาหกรรมในส่วนของการผลิตเพื่อ Track and Trace และระบบขนส่ง เรามาดูกันเลยว่า RFID นั้นเป็นอย่างไร
RFID คืออะไร??
RFID ย่อมาจากคำว่า Radio Frequency Identification เป็นระบบฉลากที่ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 โดย RFID ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) ที่สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านคลื่นวิทยุจากระยะไกลเพื่อตรวจ ติดตามและบันทึกข้อมูลที่ติดอยู่กับป้าย ซึ่งนำไปฝังไว้ในหรือติดอยู่กับวัตถุต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ กล่อง หรือสิ่งของวัตถุ
สามารถติดตามข้อมูลของวัตถุ 1 ชิ้นว่าคืออะไร ผลิตที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต ผลิตอย่างไร ผลิตวันไหน ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนกี่ชิ้น และแต่ละชิ้นมาจากที่ไหน รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้น ๆ ในปัจจุบันว่าอยู่ส่วนใดในโลก โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสัมผัส หรือต้องเห็นวัตถุนั้นๆ ก่อน RFID จะทำงานโดยใช้เครื่องอ่านที่สื่อสารกับป้ายด้วยคลื่นวิทยุในการอ่านและเขียนข้อมูล
ส่วนประกอบของ RFID
องค์ประกอบของ RFID มีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือ Tag หรือ Transponder และ Reader หรือ Interrogator
Tag หรือ Transponder
ทำหน้าที่ส่งสัญญาณหรือข้อมูลที่บันทึกอยู่ในแท็กส์ตอบสนองไปที่ตัวอ่านข้อมูล การสื่อสารระหว่างแท็กส์และตัวอ่านข้อมูลจะเป็นการสื่อสารกันโดยอาศัยช่องความถี่วิทยุผ่านอากาศ โครงสร้างภายในแท็กส์จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนของไอซีซึ่งเป็นชิปสารกึ่งตัวนำ และส่วนของขดลวดซึ่งทำหน้าที่เป็นเสาอากาศสำหรับรับส่งข้อมูลโดยทั้งสองส่วนนี้จะเชื่อมต่ออยู่ด้วยกัน มี 3 แบบ ได้แก่
แบบ Active Tag
Tag ชนิดนี้จะมีแบตเตอรี่อยู่ภายในซึ่งใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟขนาดเล็ก เพื่อป้อนพลังงานไฟฟ้าให้ Tag ทำงานโดยปกติ ทำให้มีอายุการใช้งานจำกัดตามอายุของแบตเตอรี่ มีหน่วยความจำภายในขนาดใหญ่ได้ถึง 1 เมกะไบต์ มีกำลังส่งสูงและระยะการรับส่งข้อมูลไกลสูงสุดถึง 6 เมตร ซึ่งไกลกว่า Passive Tag นอกจากนี้ยังทำงานในบริเวณที่มีสัญญาณรบกวนได้ดี แต่แท็กแบบ active มีราคาต่อหน่วยแพง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีระยะเวลาในการทำงานที่จำกัด
แบบ Passive Tag
ทำงานโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากตัวอ่านข้อมูล หรือที่เรียกว่าอุปกรณ์ Transceiver แท็กส์ชนิดพาสซีฟมีน้ำหนักเบาและเล็กกว่าชนิดแอ็กทีฟ ราคาถูกกว่า และมีอายุการใช้งานไม่จำกัด แต่ข้อเสียก็คือระยะการรับส่งข้อมูลใกล้ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้ไกลสุดเพียง 1.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะการอ่านที่สั้น มีหน่วยความจำขนาดเล็กประมาณ 32 ถึง 128 บิต และตัวเครื่องอ่านข้อมูลจะต้องมีความไวและกำลังที่สูง แต่ข้อได้เปรียบในเรื่องราคาต่อหน่วยที่ต่ำกว่าแท็กส์ชนิดแอ็กทีฟและอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าทำให้แท็กส์ชนิดพาสซีฟนี้เป็นที่นิยมมากกว่า
แบบ Semi-active/Semi-passive
หรือเรียกว่า Battery-Assisted Tag เป็น RFID Tag ที่มีแหล่งพลังงานเป็นของตนเอง และอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ในการทำงาน แหล่งพลังงานดังกล่าวจะทำหน้าที่ให้พลังงานแก่ RFID Tag ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับ Active Tag ในการส่งข้อมูลนั้นจะอาศัยพลังงานจากเครื่องอ่าน มีการนำไปใช้แทน Passive Tag เนื่องจาก Tag ประเภทนี้ สามารถส่งข้อมูลได้ไกลกว่า เพราะการส่งข้อมูลไม่ต้องรอให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของขดลวดทองแดงเหมือน Passive Tag ถึงแม้ว่าวัสดุที่ติด Tag ประเภทนี้จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว วัสดุที่มีผลต่อคลื่นวิทยุ การส่งข้อมูลก็ยังสามารถทำงานได้ดี
Reader หรือ Interrogator
หน้าที่สำคัญของตัวอ่านข้อมูลคือการรับข้อมูลที่ส่งมาจาก Tag แล้วทำการตรวจสอบความผิดพลาดของข้อมูล ถอดรหัสสัญญาณข้อมูลที่ได้รับซึ่งกระทำโดยไมโครคอนโทรเลอร์ ซึ่งอัลกอริทึมที่อยู่ในเฟิร์มแวร์ (Firmware) ของตัวไมโครคอนโทรเลอร์จะทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณถอดรหัสสัญญาณที่ได้ และทำหน้าที่ติดต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อนำข้อมูลผ่านเข้าสู่กระบวนการต่อไป
นอกจากนี้ตัวอ่านข้อมูลที่ดีต้องมีความสามารถในการป้องกันการอ่านข้อมูลซ้ำ เช่น ในกรณีที่แท็กถูกวางทิ้งอยู่ในบริเวณสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตัวอ่านข้อมูลสร้างขึ้นหรืออยู่ในระยะการรับส่ง ก็อาจทำให้ตัวอ่านข้อมูลทำการรับหรืออ่านข้อมูลจากแท็กซ้ำอยู่เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด
คุณสามารถเข้าไป ดูและเลือกซื้ออุปกรณ์ RFID ได้จากหน้าร้านออนไลน์ของเราได้เลย ถ้าคุณมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้า สามารถแชทมาหาเราได้ทันทีจากช่องแชทด้านล่างขวามือ หรือส่งเมลล์มาที่ [email protected] หรือผ่าน Line ที่ @factomart และเบอร์โทร 021-050-567 ได้หลากหลายช่องทาง มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำตลอดเวลาทำการ