การออกแบบวงจรและการติดตั้ง Pneumatics Control

บล็อก Factomart.com ยินดีต้อนรับอีกครั้งครับผม วันนี้เรามาต่อกันด้วยเรื่องของอุปกรณ์ในระบบนิวแมติกส์กันครับ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง  ขั้นตอนการออกแบบพื้นฐานของวงจรนิวแมติกส์พร้อมด้วยวิธีการติดตั้งอุปกรณ์กันครับ พร้อมแล้วไปดูกันเลยครับผม

การออกแบบวงจรและการติดตั้ง Pneumatics Control

ขั้นตอนการออกแบบวงจรนิวแมติกส์จะขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานเป็นหลัก โดยจะมีขั้นตอนการออกแบบพื้นฐานง่ายๆ ดังนี้

  • เลือกชนิดของกระบอกสูบ ให้พิจารณาจากงานที่จะนำไปใช้
  • เลือกขนาดของกระบอกสูบและระยะการชักโดยการควบคุมตำแหน่งโดยใช้ Sensor
  • เลือกชนิดของเมนวาล์ว ขนาดของวาล์ว ซึ่งการเลือกให้ดูจากลักษณะของงานที่จะนำไปใช้
  • เลือกอุปกรณ์ควบคุมความเร็วและชนิดของการควบคุมความเร็วของกระบอกสูบ ซึ่งการเลือกนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน เช่น หากต้องการให้กระบอกสูบเคลื่อนที่เร็วให้เลือกใช้วาล์วเร่งระบาย (quick exhaust valve)
  • กำหนดขั้นตอนการทำงานและกำหนดตำแหน่งของวาล์วควบคุม โดยให้เริ่มเขียนแผนภาพลำดับการทำงาน (alphabetic diagram) เป็นการเขียนลำดับการทำงาน หรือกระบอกสูบ ใช้อักษรภาษาอังกฤษหรือตัวเลข ใช้เครื่องหมาย + และ – ในการแสดงการทำงาน โดยเครื่องหมาย + หมายถึง ก้านสูบเคลื่อนที่ออก ส่วนเครื่องหมาย – หมายถึง ก้านสูบเคลื่อนที่เข้า

ตัวอย่างเช่น

A+ หมายถึง ลำดับที่ 1 เริ่มต้น กระบอกสูบ A เลื่อนออก

B+ หมายถึง ลำดับที่ 2 กระบอกสูบ B เลื่อนออก ขณะที่กระบอกสูบ A ยังเลื่อนออกอยู่

A- / B- หมายถึง ลำดับที่ 3 กระบอกสูบ A และ B เลื่อนเข้า เป็นขั้นสุดท้าย   

  • เขียนแผนภาพการไหลลำดับการทำงาน (alphabetic with signal flow diagram) และแผนภาพขั้นตอนการทํางาน (motion-Step diagram)
  • เขียนวงจรควบคุมการทำงาน (motion-step diagram) เป็นการแสดงขั้นตอนการทำงาน ใช้ไดอะแกรมความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ของก้านสูบและวาล์วควบคุมกับจังหวะในการทำงาน โดยการเขียนวงจรควบคุมการทำงานนั้นเราจำเป็นต้องรู้จักสัญลักษณ์ที่จะใช้ในการเขียนวงจรก่อน ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบนิวแมติกส์นั้นจะมีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เราควรใช้สัญลักษณ์ให้ตรงกับอุปกรณ์ที่เราเลือกมาใช้ในวงจรนิวแมติกส์ เพื่อความถูกต้องในการติดตั้งและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ภาพแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ ในระบบนิวแมติกส์

ภาพแสดงตัวอย่างการเขียนวงจรการทำงาน

  • หากมีเงื่อนไขพิเศษ ให้เติมเงื่อนไขพิเศษเพื่อให้วงจรสมบูรณ์ เช่น มีอุปกรณ์สตาร์ท สวิตซ์สั่งงานอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ หรืออุปกรณ์วาล์วฉุกเฉิน
  • ตรวจสอบการทำงานของวงจรที่ออกแบบและทำการต่อวงจรจริง

ในระบบนิวแมติกส์จะมีอุปกรณ์ที่ควบคุมกระบอกสูบและมอเตอร์ลม คือ วาล์ว การเลื่อนวาล์วก็จะมีด้วยกันหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือการเลื่อนด้วยไฟฟ้า ระบบนิวแมติกส์ไฟฟ้าเป็นการใช้เป็นการใช้ระบบไฟฟ้าควบคุมการทำงานของระบบนิวแมติกส์ กล่าวคือ การควบคุมอุปกรณ์ทำงานที่ต้องใช้วาล์วเลื่อนโดยไฟฟ้า หรือวาล์วเลื่อนด้วยขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้า

การเขียนวงจรควบคุมการทำงานของระบบนิวแมติกส์ไฟฟ้าสามารเขียนแยกเป็น 2 ระบบ

1. ระบบนิวแมติกส์หรือวงจรกำลัง ประกอบด้วยอุปกรณ์ทำงาน คือ กระบอกสูบหรือมอเตอร์ลม วาล์วควบคุมความเร็ว วาล์วควบคุมอัตราการไหลวาล์วควบคุมทิศทางทำงานด้วยไฟฟ้า

2. ระบบควบคุมด้วยไฟฟ้าหรือวงจรควบคุม ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้ากระแสตรง 24 โวลต์ ขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าของวาล์ว สวิตซ์ รีเลย์ ระบบนี้มีด้วยกัน 2 วิธี คือ

  • วงจรควบคุมโดยทางตรงเป็นการควบคุมการทำงานโดยผ่านขดลวดของวาล์วเพียงอย่างเดียว ประกอบไปด้วย วงจรกำลังและวงจรควบคุม

              – วงจรกำลัง เช่น กระบอกสูบ มอเตอร์ลม หรือวาล์วเลื่อนลิ้นด้วยขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้า

              – วงจรควบคุม เช่น ระบบไฟฟ้ากระแสตรง 24 โวลต์ สวิตซ์ หรือลิมิตสวิตซ์

  • วงจรควบคุมโดยทางอ้อมจะประกอบไปด้วยวงจรกำลังและวงจรควบคุม แต่วงจรควบคุมจะมีวงจรอื่นๆ มาช่วย เช่น นำรีเลย์มาช่วยควบคุมขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าของวาล์ว

ทาง Factomart.com ได้จัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับ หลักการทำงาน, วิธีการเลือกซื้อ และ การประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรม ผู้อ่านสามารถเข้าไปเลือกศึกษาได้เลยครับผม หรือหากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเข้ามาได้เลยครับ ทางเรายินดีให้บริการ ^^

หรือหากท่านใดสนใจต้องการเลือกชมสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์นิวแมติกส์สามารถเข้ามาได้ที่ Factomart.com ได้เลยครับ

Facebook Comments